นานาสาระต้องรู้… ก่อนลงทุนสม่ำเสมอด้วยวิธี DCA
“DCA ใช้เงินน้อย ทยอยลงทุน”
ปัจจุบันวิธีการลงทุนแบบ DCA หรือ Dollar – Cost Average ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นวิธีที่สะดวก เหมาะกับผู้ที่สนใจจะลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง แต่ยังไม่มีความรู้เรื่องการจับจังหวะตลาดที่มากพอ ไม่มีเวลาในการติดตามราคา และอาจจะยังไม่พร้อมที่จะลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ ซึ่งก่อนเริ่มลงทุน เราควรทำความเข้าใจลักษณะการลงทุนแบบ DCA ให้ดีและลองสำรวจตัวเองดูว่าเราเหมาะกับการลงทุนด้วยวิธีนี้หรือไม่ โดยการลงทุนแบบ DCA มีลักษณะที่เราควรรู้ดังต่อไปนี้
ต้องเป็นการลงทุนในระยะยาว เช่น 5 ปี 10 ปี เป็นต้น
ต้องพิจารณาว่า มีความสามารถในการลงทุนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอได้หรือไม่
ต้องมีการกำหนดช่วงเวลาสำหรับการลงทุนไว้อย่างแน่นอนเป็นงวดๆ เช่น ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกไตรมาส
ต้องมีการกำหนดจำนวนเงินที่ต้องใช้สำหรับการลงทุนเป็นจำนวนคงที่เท่าๆ กันในแต่ละงวด
ต้องมีวินัยในการลงทุน โดยไม่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะการลงทุนที่เกิดขึ้นในตลาด
หากทำความเข้าใจและพิจารณาแล้วว่า การลงทุนแบบ DCA นั้นเหมาะสมกับตนเอง… ลองมาดู “5 ข้อควรรู้ก่อนเริ่มลงทุนแบบ DCA” ดังต่อไปนี้ ที่จะช่วยให้เราตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของเรามากขึ้น
“DCA แบบอัตโนมัติกับ บล. / บลจ.” VS “DCA ด้วยตนเอง” แบบไหนดีกว่ากัน?
ประโยชน์ของการลงทุน DCA แบบอัตโนมัติคือ “การตัดอารมณ์ส่วนตัวออกไป” เพราะระบบของ บล. และ บลจ. จะตัดเงินในบัญชีของเราไปลงทุนตามกรอบเวลาที่เราได้กำหนดไว้ โดยไม่สนใจว่า ราคาของหุ้น หรือ กองทุนรวมในตอนนั้นจะขึ้นหรือลง ทำให้เป็นสร้างวินัยในการเก็บออมเงินได้อย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ แม้จะมีข้อเสียเล็กน้อยตรงที่เราจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับ บล. / บลจ. ในแต่ละครั้งที่ลงทุน ซึ่งบางแห่งอาจจะสูงกว่าการลงทุนด้วยตนเอง
ส่วนการลงทุนแบบ DCA ด้วยตนเองนั้น มีโอกาสที่จะ “ถูกกระทบจากอารมณ์ในการลงทุนสูง” เช่น หากครบกำหนดวันที่ควรจะลงทุน แต่ในตอนนั้นสภาวะตลาดอยู่ในขาลง ราคาหุ้น/กองทุนรวมปรับตัวลดลงเกินปกติ หรือสภาวะตลาดอยู่ในขาขึ้น จนทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นมากเกินไป เหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้เราใช้อารมณ์ตัดสินและระงับการลงทุนชั่วคราวได้ ที่สำคัญหากเราใจไม่แข็งและไม่มีวินัยมากพอ ก็ทำให้มีโอกาสที่จะนำเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นแทนที่จะนำมาลงทุนอีกด้วย
“DCA แบบกำหนดจำนวนเงิน” VS “DCA แบบกำหนดจำนวนหุ้น/หน่วยลงทุน” แบบไหนดีกว่ากัน?
กลยุทธ์การลงทุนทั้งสองวิธีเป็นการทยอยลงทุนเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนเช่นเดียวกัน แต่สาเหตุที่ “DCA แบบกำหนดจำนวนเงิน” มักจะได้รับความนิยมมากกว่า มาจาก 2 สาเหตุหลักๆ คือ
“มีความผันผวนของอัตราผลตอบแทนต่ำกว่า” เนื่องจากในยามที่ราคาหุ้น / หน่วยลงทุนสูงขึ้น จำนวนหลักทรัพย์หรือหน่วยที่ได้รับก็จะน้อยลง แต่ในยามที่ราคาลดลง ก็จะได้รับจำนวนมากขึ้น ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วในระยะยาวต้นทุนเฉลี่ยจากการ DCA แบบกำหนดเงิน จะต่ำกว่า และมีความผันผวนน้อยกว่า DCA แบบกำหนดจำนวนหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ต้องซื้อในจำนวนเท่ากันไม่ว่าราคาจะขึ้นหรือลงก็ตาม
“กำหนดงบประมาณในการลงทุนได้ง่ายกว่า” เช่น 2,000 หรือ 5,000 บาทต่อเดือน ทำให้บริหารจัดการเงินได้ง่ายเพราะรู้ว่าในแต่ละงวดต้องเตรียมเงินเท่าไหร่
เลือกลงทุน DCA แบบไหนดี รายปี รายเดือน หรือรายวัน?
จากผลงานวิจัยของ Financial Planning Association เกี่ยวกับเรื่องความถี่ในการลงทุนแบบ DCA พบว่า การลงทุนด้วยความถี่ที่แตกต่างกัน เช่น รายปี รายเดือน หรือรายวันนั้น “ไม่ได้มีความแตกต่าง
กันอย่างชัดเจนในแง่ของอัตราผลตอบแทน” แต่หากพิจารณาในด้านของความเสี่ยงหรือความผันผวนของอัตราผลตอบแทนแล้ว “ยิ่งความถี่ในการลงทุนมากเท่าไร ความเสี่ยงจากการลงทุนก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น” แต่อย่างไรก็ตามหากเราต้องการเลือกความถี่ในการลงทุน ก็ควรลงทุนตามรอบรายได้ของเรา เช่น กรณีได้รับเป็นเงินเดือนก็ควรพิจารณาลงทุนเป็นรายดือน แต่หากมีรายได้ไม่แน่นอน ก็อาจจะต้องสะสมเงินก่อน และลงทุนอย่างน้อยที่สุดปีละ 1 – 2 ครั้ง
วันที่เลือกตัดบัญชี มีผลกับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนแบบ DCA จริงหรือ?
หลายคนคงสงสัยว่า ควรลงทุนต้นเดือน กลางเดือน หรือปลายเดือนดี ซึ่งจากงานวิจัยหลายๆ ชิ้น พบว่า “วันที่ลงทุนแบบ DCA ในแต่ละเดือนนั้น ไม่ได้มีผลต่ออัตราผลตอบแทนที่ได้รับอย่างชัดเจน” แต่วันที่เราควรเลือกลงทุนมากที่สุดคือ วันที่เราสะดวกที่สดที่จะลงทุนมากกว่า เช่น หากเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ทราบชัดเจนว่าจะมีรายได้เข้ามาวันไหน ก็ควรเลือกกำหนดให้วันที่ลงทุนเป็นวันเดียวกับวันที่ได้รับเงินเดือน เพื่อที่เราจะได้ไม่นำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นจนหมด ทำให้สุดท้ายแล้วก็ไม่มีเงินเหลือสำหรับลงทุนตามที่ตั้งใจ
ลงทุนแบบ DCA เดือนละ 1,000 2,000 3,000… หรือต้องเท่าไหร่ จึงจะไปได้ไกล ดังใจคิด?
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการลงทุน ได้แก่ เงินลงทุน ระยะเวลาลงทุน และอัตราผลตอบแทน ดังนั้น ยิ่งมีเงินลงทุนมากเท่าไร โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายก็จะยิ่งเร็วไวขึ้นเท่านั้น เช่น หากลงทุนด้วยเงิน 1,000 บาท 2,000 บาท และ 5,000 บาทต่อเดือน โดยได้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยเท่ากับ 10% ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเวลา 20 ปี การลงทุนเดือนละ 1,000 บาท ณ ปีที่ 20 จะมีเงิน 759,000 บาท หากลงทุน 2,000 บาทต่อเดือน จะมีเงิน 1,518,000 บาท และหากลงทุน 5,000 บาทต่อเดือน จะมีเงิน 3,796,000 บาทเลยทีเดียว ทั้งนี้ หากถามว่าควรจะลงทุนมากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่เป้าหมายและความสามารถในการลงทุนที่เหมาะสมของแต่ละคน เพราะอย่าลืมว่า เงินลงทุนนี้จะต้องถูกนำไปลงทุนอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว ดังนั้น หากกำหนดเงินลงทุนในแต่ละครั้งเป็นเงินจำนวนมากเกินไป จนทำให้เดือดร้อนกับการใช้ชีวิต ก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีมากนัก
ทางที่ดี… ควรค่อยๆ เพิ่มเงินลงทุนตามรายได้ที่ได้รับมากขึ้นในแต่ละปี มีวินัยลงทุนต่อเนื่องให้ได้นานเพียงพอ แม้จะไม่ได้เริ่มด้วยเงินก้อนใหญ่ก็สามารถช่วยให้เราไปไกลถึงฝันได้เช่นเดียวกัน
การลงทุนต้องมีความรู้ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อผลประโยนช์ของนักลงทุนเอง